ประวัติความเป็นมาในการจัดตั้งชุมชนของตำบลบ้านเดื่อ
จาการสันนิษฐานตามโบราณสถาน โบราณวัตถุ และการเล่าขานของผู้สูงอายุที่ผ่านมาหลายรุ่นก็พอสืบค้นได้ว่า กลุ่มชนที่ได้มาปลักหลักตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมเป็นหมู่บ้านครั้งแรก ได้เริ่มขึ้นบริเวณบ้านจอก ซึ่งห่างจากหมู่บ้านในปัจจุบันประมาณ ๓ กิโลเมตร
หลักฐานที่หลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันคือ “วัดป่าบ้านจอก” มีพระประธานคือพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อฝนแสนห่า” และชาวบ้านดีมีประเพณีสรงน้ำทุกปีในวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชา เมื่อขณะพิธีสรงน้ำอยู่นั้น มักจะมีฝนตกลงมาทุกครั้ง เป็นที่พึ่งพอใจของชาวบ้านยิ่งนักและในพื้นที่ห่างกันไม่มากนัก มีธาตุเจดีย์เก่าแก่ตั้งอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุนางขาว” คงสร้างขึ้นเพื่อบรรจุหรืออนุสรณ์กับแม่ชีที่ได้มาปฏิบัติธรรมอยู่บริเวณนั้น ชาวบ้านยังเล่าขานกันว่าเมื่อครั้งอดีตร่างแม่ชีองค์นี้ยังมาปรากฏกายให้ผู้สัญจรไปมาได้พบเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ปัจจุบันสภาพบริเวณนี้ได้กลายเป็นที่เกษตรกรของชาวบ้านเดื่อไปแล้ว
จากการสันนิษฐาน ชุมชนแห่งนี้ต่อมาเกิดโรคระบาดมีผู้คนล้มตายจำนวนมากและที่บริเวณที่ตั้งชุมชนนี้ไม่มีแหล่งน้ำที่สำคัญเพื่อการประกอบอาชีพจึงได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ทางด้านทิศเหนือของที่ตั้งเดิม โดยแยกกันเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่บริเวณด้านใต้ปัจจุบันคือ “บ้านเดื่อ” ตั้งชื่อของหมู่บ้านตามชื่อต้นไม้ใหญ่ในขณะนั้นคือ “ต้นมะเดื่อ” อีกกลุ่มหนึ่งไปตั้งอยู่บริเวณทางเหนือเรียกว่า “บ้านเสี่ยน” ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อหนองน้ำคือ “หนองเสี่ยน” เพราะหนองน้ำนี้มีบริเวณหนองน้ำกลมๆ เพราะคำอิสานคำว่า “เสี่ยน” คือทำให้กลม เกลี้ยง เช่นการทำล้อเกวียน เขาเรียกว่า “เสี่ยนล้อเกวียน” หรือเวลากลึงไม้ให้กลมๆ อิสานเรียกว่า “เสี่ยนไม้” และในหนองน้ำแห่งนี้ยังมีปรากฏการณ์ว่า ชาวบ้านพากันขุดดินขึ้นมาปั้นก่อเหมือนกับโพนจอมปลวกขนาดใหญ่เรียงกันเป็นแถวตลอดแนวยาว จึงทำให้หนองน้ำแห่งนี้มีชื่อเรียกใหม่อีกคือ “หนองบักนาวเรียงหน่วย” ความหมายคือ เหมือนการเอามะนาวมาวางเรียงกันเป็นแถวหลายๆลูก ประโยชน์ในสิ่งที่ช่วยกันทำขึ้นคือเพื่อเป็นที่หลบภัยในครั้งนั้น คือภัยจากสงครามพวกกบฏ จีนฮ่อ มหันตภัยจากสงครามนานาประเทศ (สงครามโลก) และยังใช้ดินจากหนองน้ำนี้มาปั้นเป็น อิฐ เป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ ในครัวเรือน แล้วนำไปเผารวมกันที่เตาเผาใหญ่ที่ได้ช่วยกันทำขึ้น เตาเผาแห่งนี้ต่อมาจึงได้ชื่อว่า “โพนเตาไห” คือมีลักษณะเป็นเตาที่ใช้ดินทำขึ้นขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “โพน” และยังมีบ่อน้ำที่มีปากบ่อกว้างประมาณเมตรเศษหรือไม่เกินสองเมตร ตัวบ่อนี้ขุดได้ลึกมากและยังใช้อิฐก่อรอบข้างในบ่อตั้งแต่ฐานรากถึงปากบ่อทำได้กลมกลึงสวยงามเรียกชื่อบ่อน้ำนี้ว่า “สร้างเสี่ยน”
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ในบางสิ่งบางเรื่องยังหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่ซึ่งเป็นเรื่องบ่งบอกให้ทราบถึงความเป็นมาของบรรพบุรุษที่ได้มาตั้งถิ่นฐานในดินแดนถิ่นนี้ได้ประมาณหนึ่ง
อีกประกาหนึ่งตามคำเล่าขานของผู้สูงอายุเล่าว่า บุคคลที่ได้รวมตัวตั้งถิ่นฐานที่นี่นั้นมาจากหลายท้องที่ด้วยกัน อาทิเช่น กลุ่มที่มาจากพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจะใช้นามสกุล “อุบลบาล” กลุ่มที่มาจากจังหวัดยโสธร คือกลุ่มคนที่ใช้นามสกุล “ยะสุนทร” กลุ่มที่มาจากชัยภูมิ คือกลุ่มคนที่ใช้นามสกุล “ศรีภูมิภักดิ์” กลุ่มที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือกลุ่มคนที่ใช้นามสกุล “พรหมเนาว์” กลุ่มสุดท้ายมาจากตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม คือกลุ่มคนที่ใช้นามสกุล “ขอนยาง” ตามชื่อหมู่บ้านเดิมของตนเอง
ตำบลบ้านเดื่อเป็นตำบลที่เก่าแก่มากในกาลที่ผ่านมานั้นมีท่าน “ขุนผดุงเดื่อแดน” เป็นผู้ปกครองเมือง ต่อมาได้แยกการปกครองของตำบลบ้านเดื่อออกปลีกย่อยหลายตำบลเช่น ตำบลบ้านถ่อน ตำบลบ้านว่าน เป็นต้น |